หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

นครทวารกะเมืองหลวงแห่งแคว้นกัมโพชะ

  • "ทวารวดี" เริ่มที่นี่ นครทวารกะ เมืองหลวงแห่งแคว้นกัมโพชะ....เป็น " นครทวารกะ ที่ตั้งอยู่ที่เมืองโบราณซับจำปา ต.ซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี " เมืองโบราณซับจำปา ที่ได้รับการยกย่องว่า มีความร่ำรวยทางวัฒนธรรมแห่งยุคทวาราวดี
  • แต่วันนี้...เราต้องลบกรอบที่ฝรั่ง และนักโบราณคดีโง่ แล้วกำลังพาคนในชาติโง่ เพราะคิดว่า "ทวาราวดี ในไทยอายุเก่าแก่แค่ พ.ศ. 1000 หรือ มีอายุเพียงแค่ 1500 ปีเศษเท่านั้น"
  • แต่ ผมขอค้านหัวชนกำแพงว่า "ทวาราวดี มี อายุมากกว่า 2,600 ปี และ ทวารวดี เริ่มต้นที่ ทวารกะ แคว้นกัมโพชะ ที่ซับจำปา...
  • และชื่อแคว้นกัมโพชะนี้ ยังถูกใช้เรียกขาน บ้านเมืองนี้ มาจนถึงยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ที่พระราเมศวร ราชโอรสแห่งพระเจ้าอู่ทอง ก็ได้มาปกครองเมืองกัมโพชะที่ลพบุรี นี้...
  • มาดูหลักฐาน "ทวาราวดี ใน พระไตรปิฎกและอรรถกถา" ว่า เมืองนี้ เก่าแก่เพียงไร????
๙. อังกุรเปตวัตถุ
  • ว่าด้วยบุพกรรมของอังกุรเปรต พราหมณ์พ่อค้าคนหนึ่ง เห็นของทิพย์ออกจากมือรุกขเทวดาจึงเกิดความโลภขึ้น ได้บอกแก่อังกุรพาณิชว่า
  • [๑๐๖] เราทั้งหลายเที่ยวหาทรัพย์ ไปสู่แคว้นกัมโพช เพื่อประโยชน์สิ่งใด เทพบุตรนี้เป็นผู้ให้สิ่งที่เราอยากได้นั้น 
    • พวกเราจักนำเทพบุตรนี้ไปหรือจักจับเทพบุตรนี้ ข่มขี่เอาด้วยการวิงวอนหรืออุ้มใส่ยานรีบนำไปสู่ทวารกนครโดยเร็ว.
  • อังกุรพาณิช เมื่อจะห้ามพราหมณ์พ่อค้านั้น จึงได้กล่าวคาถาความว่า
    • บุคคลอาศัยนั่งนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่ควรหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะการประทุษร้ายมิตร เป็นความเลวทราม.
  • พราหมณ์พ่อค้ากล่าวว่า
    • บุคคลอาศัยนั่งนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด พึงตัดแม้ลำต้นของต้นไม้นั้นได้ ถ้ามีความต้องการเช่นนั้น.
  • อังกุรพาณิชกล่าวว่า
    • บุคคลอาศัยนั่งนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงทำลายแม้ใบของต้นไม้นั้น เพราะการประทุษร้ายมิตร เป็นความเลวทราม.
  • พราหมณ์พ่อค้ากล่าวว่า
    • บุคคลอาศัยนั่งนอนที่ร่มเงาของต้นไม้เหล่าใด พึงถอนต้นไม้นั้นพร้อมทั้งรากได้ ถ้าพึงประสงค์เช่นนั้น.
  • อังกุรพาณิชกล่าวว่า
    • ก็บุรุษพึงพักอยู่ในเรือนของบุคคลใดตลอดราตรีหนึ่ง หรือพึงได้ข้าวน้ำในที่ใด ไม่ควรคิดชั่วต่อบุคคลนั้น แม้ด้วยใจความเป็นผู้กตัญญู สัปบุรุษสรรเสริญ 
    • บุคคลพึงพักอาศัยในเรือนของบุคคลใดแม้เพียงคืนหนึ่ง พึงได้รับบำรุงด้วยข้าวและน้ำ ก็ไม่พึงคิดชั่วต่อบุคคลนั้นแม้ด้วยใจ 
    • บุคคลผู้มีมืออันไม่เบียดเบียน ย่อมแผดเผาบุคคลผู้ประทุษร้ายมิตร 
    • ผู้ใดทำความดีไว้ในก่อน ภายหลังเบียดเบียนด้วยความชั่ว ผู้นั้น ชื่อว่าเป็นคน อกตัญญู ย่อมไม่พบเห็นความเจริญทั้งหลาย 
    • ผู้ใดประทุษร้ายต่อนระผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้เป็นบุรุษบริสุทธิ์ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน บาปย่อมกลับมาถึงผู้นั้นซึ่งเป็นคนพาลแน่แท้ เหมือนธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลมฉะนั้น.
    • เมื่อรุกขเทวดาได้ฟังดังนั้นแล้ว เกิดความโกรธต่อพราหมณ์นั้น จึงกล่าวว่า ไม่เคยมีเทวดาหรือมนุษย์ หรืออิสรชนคนใดจะมาข่มเหงเราได้โดยง่าย
    • เราเป็นเทพเจ้าผู้มีมหิทธิฤทธิ์อย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้ไปได้ไกลสมบูรณ์ด้วยรัศมีและกำลัง.
  • อังกุรพานิชจึงถามรุกขเทวดานั้นว่า
    • ฝ่ามือของท่านมีสีดังทองคำทั่วไป ทรงไว้ซึ่งวัตถุที่บุคคลอื่นปรารถนาด้วยนิ้วทั้ง ๕ เป็นที่ไหลออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย วัตถุมีรสต่างๆ ย่อมไหลออกจากฝ่ามือของท่าน ข้าพเจ้าเข้าใจว่าท่านเป็นท้าวสักกะ.
  • รุกขเทวดาตอบว่า
    • เราไม่ใช่เทพเจ้า ไม่ใช่คนธรรพ์ ไม่ใช่ท้าวสักกปุรินททะ ดูกรอังกุระ ท่านจงทราบว่าเราเป็นเปรต จุติจากโรรุวนครมาอยู่ที่ต้นไทรนี้.
  • อังกุรพาณิชถามว่า
    • เมื่อก่อน ท่านอยู่ในโรรุวนคร ท่านมีปกติอย่างไร มีความประพฤติอย่างไร ผลบุญสำเร็จที่ฝ่ามือของท่าน เพราะพรหมจรรย์อะไร?
  • รุกขเทวดาตอบว่า
    • เมื่อก่อน เราเป็นช่างหูกอยู่ในโรรุวนคร เป็นคนกำพร้าเลี้ยงชีวิตโดยความลำบากนัก เราไม่มีอะไรจะให้ทาน เรือนของเราอยู่ใกล้เรือนของ อสัยหเศรษฐี ซึ่งเป็นคนมีศรัทธาเป็นทานาธิบดี มีบุญอันทำแล้ว 
    • เป็นผู้ละอายต่อบาป พวกยาจกวณิพกมีนามแลโคตรต่างๆ กัน ไปที่บ้านของเรานั้น พากันถามถึงเรือนของอสัยหเศรษฐีกะเราว่า 
    • ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย พวกเราจะไปทางไหน ทานเขาให้ที่ไหน เราถูกพวกยาจกวณิพกถามแล้ว ได้ยกมือเบื้องขวาชี้บอกเรือนของอสัยหเศรษฐีแก่ยาจกวณิพกเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลายจงไปทางนี้ ความเจริญจักมีแก่ท่าน ทั้งหลาย ทานเขาให้อยู่ที่นั่น 
    • เพราะเหตุนั้น ฝ่ามือของเราจึงให้สิ่งที่น่าปรารถนาเป็นที่ไหลออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย ผลบุญย่อมสำเร็จที่ฝ่ามือของเราเพราะพรหมจรรย์นั้น.
  • อังกุรพาณิชถามว่า
    • ได้ยินว่า ท่านไม่ได้ให้ทานแก่ใครๆ ด้วยมือทั้งสองของตนเป็นแต่เพียงอนุโมทนาทานของคนอื่น ยกมือชี้บอกทางให้ 
    • เพราะเหตุนั้นฝ่ามือของท่านจึงให้สิ่งที่น่าใคร่ เป็นที่ไหลออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย ผลบุญย่อมสำเร็จที่ฝ่ามือของท่านเพราะพรหมจรรย์นั้น 
    • ข้าแต่ท่านผู้เจริญอสัยหเศรษฐีผู้เลื่อมใส ได้ให้ทานด้วยมือทั้งสองของตน ละร่างกาย  มนุษย์แล้ว ไปทางทิศไหนหนอ?
  • รุกขเทวดาตอบว่า
    • เราไม่รู้ทางไปหรือทางมาของอสัยหเศรษฐี ผู้เป็นเจ้าของแห่งทาน ผู้มีรัศมีซ่านออกจากตน แต่เราได้ฟังมาในสำนัก ของท้าวเวสสุวัณว่าอสัยหเศรษฐี ถึงความเป็นสหายแห่งท้าวสักกะ.
  • อังกุรพาณิชกล่าวว่า
    • บุคคลควรทำความดีแท้ ควรให้ทานตามสมควร ใครได้เห็นฝ่ามืออันให้สิ่งที่น่าใคร่แล้ว จักไม่ทำบุญเล่า เราไปจากที่นี้ถึงทวารกนครแล้ว จักรีบให้ทานอันจักนำความสุขมาให้เราแน่แท้ เราจักให้ข้าว น้ำ ผ้า เสนาสนะ บ่อน้ำ และสะพานในที่เดินยากเป็นทาน.
  • อังกุรพาณิชถามว่า
    • เพราะเหตุไร นิ้วมือของท่านจึงงอหงิก ปากของท่านจึงเบี้ยวและนัยน์ตาทะเล้นออก ท่านได้ทำบาปกรรมอะไรไว้?
  • เปรตนั้นตอบว่า
    • เราอันคฤหบดีตั้งไว้ในการให้ทาน ในโรงทานของคฤหบดี ผู้มีอังคีรส ผู้มีศรัทธา เป็นฆราวาส ผู้ครอบครองเรือนเห็นยาจกผู้มีความประสงค์ ด้วยโภชนะ มาที่โรงทานนั้น ได้หลีกไปทำการบุ้ยปากอยู่ ณ ที่ข้างหนึ่ง เพราะกรรมนั้น นิ้วของเราจึงงอหงิก ปากของเราจึงเบี้ยว นัยน์ตาทะเล้นออกมา เราได้ทำบาปกรรมนั้นไว้.
  • อังกุรพาณิชถามว่า
    • แน่ะบุรุษเลวทราม การที่ท่านมีปากเบี้ยว ตาทั้ง ๒ ทะเล้นเป็นการชอบแล้ว เพราะท่านได้ทำการบุ้ยปากต่อทานของผู้อื่น 
    • ก็ไฉน อสัยหเศรษฐี เมื่อจะให้ทาน จึงได้มอบข้าว น้ำของเคี้ยว ผ้า และเสนาสนะ ให้ผู้อื่นจัดแจง ก็เราไปจากที่นี่ถึงทวารกะนครแล้ว จักเริ่มให้ทานที่นำความสุขมาให้แก่เราแน่แท้ เราจักให้ข้าว น้ำ ผ้า เสนาสนะ บ่อน้ำสระน้ำและสะพานทั้งหลายในที่เดินลำบาก เป็นทาน 
    • ก็อังกุรพาณิชกลับจากทะเลทราย ไปถึงทวารกะนครแล้วได้เริ่มให้ทาน อันจะนำความสุขมาให้ตนได้ให้ข้าว น้ำ ผ้า เสนาสนะ บ่อน้ำ สระน้ำ ด้วยจิตอันเลื่อมใส.
    • ช่างกัลบก พ่อครัว ชาวมคธ พากันป่าวร้องในเรือนของอังกุรพาณิชนั้น ทั้งในเวลาเย็น ทั้งในเวลาเช้าทุกเมื่อว่า ใครหิวจงมากินตามชอบใจ ใครกระหายจงมาดื่มตามชอบใจ ใครจักนุ่งห่มผ้าจงนุ่งห่ม ใครต้อง
    • การพาหนะสำหรับเทียมรถ จงเทียมพาหนะในคู่แอกนี้ ใครต้องการร่ม จงเอาร่มไป ใครต้องการของหอม จงมาเอาของหอมไป ใครต้องการดอกไม้ จงมาเอาดอกไม้ไป ใครต้องการรองเท้า จงมาเอารองเท้าไป มหาชนย่อมรู้เราว่า อังกุระนอนเป็นสุข 
    • ดูกรสินธุมาณพ เรานอนเป็นทุกข์ เพราะไม่ได้เห็นพวกยาจก มหาชนรู้เราว่า อังกุระนอนเป็นสุข ดูกรสินธุกมาณพ เรานอนเป็นทุกข์ ในเมื่อวณิพกมีน้อย.
    • สินธุมาณพได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาความว่า ถ้าท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าชาวดาวดึงส์ และเป็นใหญ่กว่าโลกทั้งปวงพึงให้พรท่าน ท่านเมื่อจะเลือก พึงเลือกเอาพรเช่นไร?
  • อังกุรพาณิชกล่าวว่า
    • ถ้าท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าชาวดาวดึงส์ พึงให้พรแก่เราจะพึงขอพรว่า 
    • เมื่อเราลุกขึ้นแต่เช้า ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น ขอภักษาหารอันเป็นทิพย์ และพวกยาจกผู้มีศีลพึงปรากฏ 
    • เมื่อเราให้อยู่ไทยธรรมไม่พึงสิ้นไป ครั้นเราให้ทานนั้นแล้ว ไม่พึงเดือดร้อนในภายหลัง เมื่อกำลังให้พึงยังจิตให้เลื่อมใส 
    • ข้าแต่ท้าวสักกะ ข้าพเจ้าพึงเลือกเอาพรอย่างนี้.
    • โสณกบุรุษกล่าวเตือนอังกุรพาณิชว่า บุคคลไม่พึงให้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจทั้งหมดแก่บุคคลอื่น ควรให้ทานและควรรักษาทรัพย์ไว้ 
    • เพราะว่าทรัพย์เท่านั้นประเสริฐกว่าทาน สกุลทั้งหลายย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะการให้ทานเกินประมาณไป 
    • บัณฑิตย่อมไม่สรรเสริญการไม่ให้ทานและการให้เกินควร เพราะเหตุผลนั้นแล ทรัพย์เท่านั้นประเสริฐกว่าทาน บุคคลผู้เป็นปราชญ์ สมบูรณ์ด้วยธรรม ควรประพฤติโดยพอเหมาะ.
  • อังกุรพาณิชกล่าวว่า
    • ดูกรชาวเราทั้งหลาย ดีหนอ เราพึงให้ทานแล ด้วยว่าสัปบุรุษผู้สงบระงับพึงคบหาเรา เราพึงยังความประสงค์ของวณิพกทั้งปวงให้เต็ม เลี้ยงดูให้อิ่มหนำ เปรียบเหมือนฝนยังที่ลุ่มทั้งหลายให้เต็มฉะนั้น สีหน้าของบุคคลใดย่อมผ่องใส เพราะเห็นพวกยาจก บุคคลนั้นครั้นให้ทานแล้วมีใจเบิกบาน ข้อนั้นเป็นความสุขของบุคคลผู้อยู่ครองเรือน สีหน้าของบุคคลใดย่อมผ่องใสเพราะเห็นพวกยาจก บุคคลนั้นครั้นให้ทานแล้วย่อมปลาบปลื้มใจ นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญบุคคล ก่อนแต่ให้ก็มีใจเบิกบาน เมื่อกำลังให้ก็ยังจิตให้ผ่องใส ครั้นให้แล้ว ก็มีใจเบิกบาน นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ.
  • พระสังคีติกาจารย์กล่าวคาถาทั้งหลายความว่า
    • ในเรือนของอังกุรพาณิชผู้มุ่งบุญ โภชนะอันเขาให้แก่หมู่ชนวันละ ๖ หมื่นเล่มเกวียนเป็นนิตย์ พ่อครัว ๓๐๐๐ คน ประดับด้วยต่างหูอันวิจิตร ด้วยมุกดาและแก้วมณี เป็นผู้ขวนขวายในการให้ทาน พากันเข้าไปอาศัยอังกุรพาณิชเลี้ยงชีวิต มาณพ ๖ หมื่นคน ประดับด้วยต่างหูอันวิจิตรด้วยแก้วมุกดา และแก้วมณี ช่วยกันผ่าฟืนสำหรับหุงอาหาร ในมหาทานของอังกุรพาณิชนั้น พวกนารี ๑๖๐๐๐ คนประดับด้วยอลังการทั้งปวง ช่วยกันบดเครื่องเทศสำหรับปรุงอาหาร ในมหาทานของอังกุรพาณิชนั้น นารีอีก ๑๖๐๐๐ คน ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง ถือทัพพีเข้ายืนคอยรับใช้ในมหาทานของอังกุรพาณิชนั้น 
    • อังกุรพาณิชนั้น ได้ให้ของเป็นอันมากแก่มหาชน โดยประการต่างๆ ได้ทำความเคารพ และความยำเกรงในกษัตริย์ด้วยมือของตนเองบ่อยๆ ให้ทานโดยประการต่างๆ สิ้นกาลนาน
    • อังกุรพาณิช ยังมหาทานให้เป็นไปแล้วสิ้นเดือน สิ้นปักษ์สิ้นฤดู และปีเป็นอันมากตลอดกาลนาน อังกุรพาณิชได้ให้ทานและทำการบูชาแล้วอย่างนี้ ตลอดกาลนาน ละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปบังเกิดในดาวดึงส์ 
    • อินทกมาณพได้ถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง แก่พระอนุรุทธเถระ ละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปบังเกิดในดาวดึงส์เหมือนกัน แต่อินทกเทพบุตรรุ่งเรืองยิ่งกว่าอังกุรเทพบุตร โดยฐานะ ๑๐ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่ารื่นรมย์ใจ อายุ ยศ วรรณะ สุข และความเป็นใหญ่.
  • พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
    • ดูกรอังกุระ มหาทานท่านได้ให้แล้วสิ้นกาลนาน ท่านมาในสำนักของเราไฉนจึงนั่งอยู่ไกลนัก?
    • เมื่อพระพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุรุษ ประทับอยู่ที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ต้นปาริฉัตตกพฤกษ์ ณ ดาวดึงส์ ครั้งนั้น เทวดาในหมื่นโลกธาตุ พากันมานั่งประชุมเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าซึ่งประทับบนยอดเขา เทวดาไรๆ ไม่รุ่งโรจน์เกินกว่าพระสัมพุทธเจ้าด้วยรัศมี พระสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ย่อมรุ่งโรจน์ ล่วงหมู่เทวดาทั้งปวง 
    • ครั้งนั้น อังกุรเทพบุตรนี้นั่งอยู่ไกล ๑๒ โยชน์ จากที่พระพุทธเจ้าประทับ ส่วนอินทกเทพบุตรนั่งในที่ใกล้พระผู้มีพระภาค รุ่งเรืองกว่าอังกุรเทพบุตร 
    • พระสัมพุทธเจ้า ทอดพระเนตรเห็น อังกุรเทพบุตรกับอินทกเทพบุตรอยู่แล้ว เมื่อจะทรงประกาศทักขิไณยบุคคล จึงได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ความว่า ดูกรอังกุรเทพบุตร มหาทาน ท่านให้แล้วสิ้นกาลนาน ท่านมาสู่สำนักของเรา ไฉนจึงนั่งอยู่ไกลนัก.
  • อังกุรเทพบุตร อันพระผู้มีพระภาคผู้มีพระองค์อันอบรมแล้ว ทรงตักเตือนแล้ว ได้กราบทูลว่า จะทรงประสงค์อะไรด้วยทานของข้าพระองค์นั้น อันว่างเปล่าจากทักขิไณยบุคคล อินทกเทพบุตรนี้ให้ทานนิดหน่อย รุ่งเรืองยิ่งกว่าข้าพระองค์ดุจพระจันทร์ในหมู่ดาวฉะนั้น.
  • อินทกเทพบุตรทูลว่าพืชแม้มากที่บุคคลหว่านแล้วในนาดอน ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ทั้งไม่ยังชาวนาให้ปลื้มใจ ฉันใด ทานมากมายอันบุคคลเข้าไปตั้งไว้ในบุคคลผู้ทุศีล ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่มีผลไพบูลย์ ทั้งไม่ยังทายกให้ปลาบปลื้ม พืชแม้น้อยอันบุคคลหว่านแล้วในนาดี เมื่อฝนหลั่งสายน้ำโดยสม่ำเสมอ ผลย่อมยังชาวนาให้ปลาบปลื้มใจ 
  • แม้ฉันใด ทานแม้น้อยอันบุคคลบริจาคแล้วในท่านผู้มีศีล มีคุณความดี ผู้คงที่ บุญย่อมมีผลมาก ฉันนั้นเหมือนกัน
  • ทานอันบุคคลให้แล้วในเขตใด มีผลมาก ควรเลือกให้ในเขตนั้น ทายกเลือกให้ทานแล้ว ย่อมไปสู่สวรรค์ ทานที่เลือกให้ พระสุคตทรงสรรเสริญ ทักขิไณยบุคคลเหล่าใดมีอยู่ในโลกนี้ ทานที่ทายกให้แล้วในทักขิไณยบุคคลเหล่านั้น ย่อมมีผลมากเหมือนพืชที่หว่านแล้วในนาดีฉะนั้น.
    • จบ อังกุรเปตวัตถุที่ ๙....
  • ขอบคุณนะครับ ท่านนายกฯ เนตรนรินทร์ เรืองคำบุญ นายก.อบต.ซับจำปา
  • ขอบคุณน้องอ้อ- แสงเดือน สุขเอม ที่เป็นสื่อกลางอย่างยอดเยี่ยม ที่ทำให้พี่ได้คุยและได้พบกับท่านนายกฯ เนตรนรินทร์ ผู้เป็นดั่งดวงตาของพระอินทร์ผู้กล้า












วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

กเบื้องจาร..กุญแจไขปริศนา

กเบื้องจาร..กุญแจไขปริศนา ถอดรหัส คืนประวัติศาสตร์ให้แผ่นดิน
  • เมื่อราวกลางปีพุทธศักราช ๒๕๔๕ ที่ได้อ่านหนังสือที่มีชื่อว่า “พุทธสาสนสุวัณณภูมิปกรณ ราชบุรีวัตถุกถา” ของท่าน “เจ้าคุณอ่ำ ธมฺมทตฺโต วัดโสมนัสวิหาร” 
  • ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมงานค้นคว้าที่สำคัญของท่านคือ “งานอ่านลายสือไทยจากกเบื้องจาร” โดย กเบื้องจารเหล่านั้นท่านได้รับมาจาก การขุดค้นที่เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี และที่อื่นๆ เช่น เพชรบุรี นครศรีธรรมราช ศรีสัชนาลัยและพิมาย
  • จากการอ่านหลายๆ รอบ และอ่านอย่างพิจารณาโดยละเอียด ทำให้ได้พบข้อความสะดุดใจในหลายจุด จึงได้พยายามเสาะหา และสอบถามจากลูกศิษย์ และผู้รับใช้ใกล้ชิดท่านเจ้าคุณอ่ำ ในสมัยเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ 
  • เพื่อที่จะสอบถามว่า ท่านได้อธิบายหรือเล่าอะไรเป็นพิเศษนอกจากที่ท่านเขียนในหนังสือ “พุทธสาสนสุวัณณภูมิปกรณ ราชบุรีวัตถุกถา” นี้หรือไม่ 
  • แต่ก็ไม่ได้รับความกระจ่างเท่าใดนักใน “ข้อความที่สะดุดใจ” นั้น ซึ่งเป็นเหตุให้นำไปสู่ความสงสัยและการขยายผลการศึกษาทางลึก ถือเป็นการต่อยอดงานศึกษาของท่านเจ้าคุณอ่ำ ธมฺมทตฺโต 
  • ดังที่จะขอยกตัวอย่างเนื้อความในกเบื้องจารแต่เพียงบางส่วนมาให้ท่านทั้งหลายได้พินิจพิจารณา ดังนี้


ตัวอย่าง กเบื้องจาร ที่เก็บรักษาอยู่ที่วัดโสมนัสวรวิหาร กรุงเทพฯ
  • บุณณมุนี ถ้ำพุทธ (ถ้ำฤษี) เราเขียนเรื่องนี้คอยภิกขุอ่ำ อันอุปัชฌายให้ชื่อว่า ธัมมทัตต คน อันพุทธกล่าวว่า ตัว ช้างปาลิเลยยกมาเกิด ธัมมทัตต จงอ่าน เขียนให้คนอ่าน (๑๖๑/๑) ธัมมทัตต บุณณผู้มุนีเขียนคำกล่าวของพุทธในวันขึ้น ๑๑ ค่ำ (เดือนอ้ายพุทธพัสสา ๒๑) เขียนคำคอยธัมวงเวที วันขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ พุทธ พัสสา ปี ๔๓ ในพัสสาเรานี้ ๒๔ (๑๖๒/๒)
  • บุณณวรภิกขุ อยู่เขางู ถ้ำพุทธ เดิมอยู่ปรานของป๊อบ้านแม่กุน เดินทางถอมคธ สาวัตถี พบพุทธ ธัม สงฆ ได้ปัพพชา อุปสมบท เป็นภิกขุเมื่อพุทธพัสสา ๑๙ (๑๔๐/๑) เถรอานันท เป็นอุปัชฌาย เถรอุบาลีเป็น (ผู้) ให้ (สรณ) สีล เมื่อแล้วเข้า (หา) พุทธออกปาก(ว่า)เอหิ ภิกขุ (เธอจงเป็นภิกขุมาเถิด) เมื่อขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๗ พุทธพัสสา๑๙ (๑๔๐/๒) 
  • บุณณมุนี อยู่ถ้ำพุทธ ผู้พาพุทธมาสุนาปรันตพริบพรี น้องจุนหาพุทธกับอรหันตเดือนอ้าย พุทธพัสสา ๒๒ (๑๕๐/๑) พุทธอยู่บ้านมกุนเดือนอ้าย ขึ้น ๘ ค่ำ พัก ๒ วัน เสด็จ ผ่านเมืองทอง แล้วขึ้นถ้ำพุทธ นั่งนอน คืนวันหนึ่ง ผันทองปิณฑ (๑๕๐/๒)
  • (บุณณวรมุนีเล่าเมื่อ) พุทธเดินไปถ้ำเขา ทางผ่านเมืองทองพูด ว่า เมืองทองจักเป็นเมืองสุวัณณภูมิ เมืองพุทธศาสนา (๑๕๔/๑) พุทธมาถิ่นแดนชานทาง ว่า ตรงนี้เป็นเมืองต่อเมืองสุวัณณภูมิ ห้าร้อยปี พุทธ สาสนา มั่นคงดี ต่อพันปีเป็นเมืองเล็ก พุทธสาสนาเบาบาง เหลือพุทธนิมิตร (๑๕๔/๒)
  • บุณณฟังคำพุทธว่าคำไทย อันสินนี้ แม้ คน นาค ยักข ขโมย ลัก ฉ้อ บัง โกง เอาไม่ได้ สินอันตนฝังไว้นั้น (๑๘๘/๑) ผู้ให้ทุกสิ่งพอใจ ร่างงาม เสียงเพราะ สูงเยี่ยม แม้ขุนใหญ่ พุทธภูมิ ปัจเจกภูมิ ความคล่องความรู้ (๑๘๘/๒) พุทธเทสนไทย ไทยทุกคน แล ลว ทำเหืองดี ย่อมได้ดี เห็นดี ทำชั่ว ย่อมได้ชั่ว คือ ฆ่าคน และเบียนคน ช้าง ม้า งัว ควาย (๑๙๑/๑) ถือเอาของคนอื่น ผิดผัวเมียลูกท่าน กล่าวเท็จ เมาเหล้า น้ำหมักดอง อย่างนี้ว่าชั่ว ไม่ทำอย่างนั้น ชื่อว่าทำดี เช่นไม่ฆ่ากัน เป็นต้น ชื่อดีแล (๑๙๑/๒)
  • พุทธ ปุณณ เดินทาง ไปเขา สัจจพันธ พาสัจจพันธ ไป ส่งเขา สัจจพันธ อันสัจจพันธภิกขุ วอนขอ รอย ตีน อันเหยียบหินในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย เหยียบหิน เชิงเขานั้น (๑๕๕/๑)
  • พุทธสร้างรอยตีน ณ หิน ทำรอยใหญ่กว่า ๓ เท่า เถรเดินภุ่มมือตลอดนั้น เสดแล้ว พระภิกขุพัน หมอบกราบพุทธ พุทธว่าเขาตีนพุทธ (๑๕๕/๒)
  • ทับไททอง จอมลว้า ผู้เพื่อนเจ้ามคธพิมพิสาร ไฝ่ ท้าวสุนาปรันต ส่งบุณมุนี ผู้เจอ พุทธสาวัตถี เห็นธัมมแล้วมาเมืองทอง บอกพุทธ ธัมม สงฆ เกิดในโลกแล้ว ๒๑ ฝน คนบูชาทั่ว พิมพิสารเป็นผู้ทนุ อังค มคธ ให้กราบไหว้ องค์อรหันตสัมมาสัมพุทธ ธัมม อรหันตขีณาสพ เมืองทอง พ่อเมืองอยากเห็น เชิญมาเมืองมคธ เพื่อนเอง ในเมื่อควร (๓๘/๑)
  • พ่อเมืองทับไทยทอง ปุณณมุนีผู้ฟังพิมพิสารเจ้าเมืองมคธ เหนควรไปมคธเมืองเพื่อน ปุณณมุนีเถรเป็นผู้นำทางเรือ ให้เตรียมคนพันหนึ่ง ข้าวปลาเตมพร้อม ขุนอินเมืองทอง คุ้มเมืองดอมเมียน้อยผู้น้องเมียกลาง หม่อมเมียใหญ่ หม่อมเมียกลางไปด้วย ออขุนเมืองลบลว้า นายเรือผู้คุมเรือ ๗๘ ลำ ออกเดือนยี่ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีโล ๑๑๖๙ (๓๘/๒)
  • บุณณมุนี ถ้ำพุทธ ผู้แจ้งข่าว พาตัวทับไทยทอง หาพิมพิสารเมืองมคธ เพื่อนพิมพิสารพาหาเถรนนท (๑๔๗/๑) พาไปเวฬุวัน เฝ้าพุทธเทสอนุปุพพิกถาแลธัมมจัก (กัป) ปวั (ตตน) สูตต เห็นธัมมเบื้องต้นแล้ว (๑๔๗/๒)
  • ปุณณมุนี นำทับไทยทอง เมื้อ ถึง ราชคห เมื่อวัน ขึ้น ๑๓ ค่ำ พุทธวัสสา ๒๓ เดือน ๓ เข้าเวฬุวัน ฟังเทสน วันขึ้น ๑๕ ค่ำ (๑๕๖/๑)
  • พิมพิสารรับ ทับไทยทองแล้ว ส่งไป สาวัตถี เมื่อแรม ๗ ค่ำ มี อภย (ราชา) เปนสหายเดินเถิงเมืองปัสเสน ต้อนรับแล้ว พาไปเชตวัน เหนร่างนิมิตพุทธรูป ณ เชตวันนั้น (๑๕๖/๒)
  • บุณเล่า พาต้นทับไทยทอง สู้เดินถอกปิลวัตถุ ถิ่นของพุทธเดิม เดือน ๖ วัน ขึ้น ๘ ค่ำ (๓๕๑/๑) มหานาม ออนตนรับ ถึงมหาวัน ดงใหญ่ ให้พัก ที่ห้องปสาทของพุทธ ยโสธรา เคยอยู่ ต้นมหาราชาเชิญ ต้นทับไทยทอง เข้าร่วมกินข้าว (๓๕๑/๒)
  • ปุณณ คนผู้นำทับไทยทอง ไปลุมพินี อันพุทธเกิด มหานามให้ช้างชื่อ อมตคช ขี่ คนเดินหมื่น ต้นมหานามเดินรถ ออกเดินนำ (๓๕๒/๑) อุทยานกว้างใหญ่ ห่างเมืองราว ๓๒๕ เส้น ทับไทยทองหาต้นสาล ปลูก รลึก เมื่อเยี่ยม เมื่อวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ (พุทธพัสสา ๒๓) (๓๕๒/๒)
  • ปุณณ เคยเย้มคนเผ่าศากย โดยอุปัชฌาย อานันทพาไปว่า ไทยพูดได้เหมือนกันแท้ ทับไทยทองว่าต้องไปเหน แลพูด ได้ฟังกันจิง (๓๕๓/๑) เหนหน้ากัน มหานามทักเว้าต้นเชิญขึ้นเวียงเรา ทับไทยทองค้อมหวังว่าชอบใจโตไทยสกอ แล้วเชิญเข้าเวียงพร้อมกัน (๓๕๓/๒) 
  • ทับไทยทอง กลับเมือง พุทธพัสสา ๒๔ แลปีโลขึ้น ๑๑๖๙ (๘๔/๑) ให้เอาคำ มคธ ว่า สุวัณณภูมิ เป็นชื่อ เมืองทอง คนไทย เมื่อ (ปี) โลได้ ๑๑๗๐ (พุทธพัสสา ๒๕) (๘๔/๒)
  • โลกกนลว้า ราชาธิปตี สุวัณณภูมิ เมื่อครองเมืองพุทธกาล ๒๒๐ ขุนเมืองอู่ทองให้ลูกเป็นเมียชื่อก้านต้าเทวีเมืองทองสาวเข้า ๒๒ เมื่อพ่อให้มาเมืองทอง เดือน ๑๒ แต่งงาน เว็นเอือยขุนนางสาว (พ.ศ.๒๒๑) แม่คุมนางเดือนหนึ่ง หกคืน เมื่อลุปีกุน (พ.ศ.๒๒๒) ขึ้น ๑๕ (ค่ำ) เดือน ๘/๘ เมียคลอดลูกตวันเที่ยงตรง มีชื่อ ตวันทับฟ้าขุนเมืองไทย เมื่อเข้าชวด (พ.ศ.๒๒๓) เมียน้อย มิ่งเมืองทอง ท้องคลอดลูกญิง ชื่อ งามสายทอง เสมียนเขียนพุทธนิพพาน ๒๒๓ (๓๓/๑) โลกกนลว้า ทั้งเมียและตวันขันเอาอโศกเป็นเพื่อนผู้มีสืออ้างเป็นสหายเมือง ศิรยอมาตยามาเมืองทองส่งสือเล่าเรื่อง มีสงฆ์ปลอมบวชในพุทธจักมาก ให้ขจัดทั่วเมืองแล้ว นิมนโมคคัลลี เป็นหัวหน้าสังคายนาธัมมวินัย ที่ปาตลีปุต มคธ เชิญร่วมพิธีของอรหันตสงฆในปี ๒๓๔ อมาตยศิรยอกลับ พร้อมส่งขุนอินทรมนตรีน้อง(ไป) ปี ๒๓๓ (๓๓/๒) 
  • โลกกนลว้า เมืองทอง ผู้มีอโศกราชามคธเป็นเพื่อน ขุนอินทรมนตรีเมื่อร่วมสังคายนที่ ๓ ปี ๒๓๕ แล้วกลับพร้อมสือ มีความเมืองมคธ ภิกขุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา มีสีลยธัมงามพร้อม เมืองสุวัณณภูมิ ฆวนสงฆบริสุทธเข้า (ผ่าน) สังคายน มีความรู้ดีมาสุวัณณภูมิ จะส่งภิกขุห้าองค เดือนกัตติก คอยรับ โลกลว้าเขียนพุทธกาล ๒๔๐ (๔๒/๒)
  • ญาณจรณ เล่า โสณ อันอโสกนิมนตโมคคัลลีให้มองทางสุวัณณภูมิเป็นอันดี เหนแน่แล้วรือ โมคคัลลีว่า โสณเปนผู้มีเหมาะ (๕๐๐/๑) โมคคัลลีมหาเถรว่าแก่ต้นโสณว่า ก็ ผู้เจริญไปสุวัณณภูมิ จงตั้งพุทธสาสนาให้รุ่งเรือง ให้อุปสัมปันน ทั้งปัพพัชชา หัดผู้คนให้รู้ถึงสีล (แล รู้) อยู่ (รักษา) อุโปสถ (สีล) (๕๐๐/๒)
  • โลกกนลว้า สุวัณณภูมิ พบโสณุตตร (พระโสณ พระอุตตร พระฌานีย พระภูริย พระมูนีย) ผู้ไปถึงเมืองช้างค่อม เรือเดินทางมาถึงเมืองทอง เมื่อเดือนอ้าย ขึ้น ๑๔ (ค่ำ) ปีพุทธกาลลุล่วง (แล้ว) ๒๓๕ ปีไทยฉลู เชิญท่านอยู่วัดปุณณารามดำรงอริยสงฆพร้อมกันเช้าเทสน พรหมชาลสูตร คนลุมัคผลถึงสรณ บวชชายเป็นภิกขุพันคน ญิงชีร้อยคน พุทธกาลได้ ๒๓๖ (๒๑/๑) โลกกนลว้า ขุนเมืองพร้อมลูกตัวตวัน เมียก้านต้าเทวี ผู้ต้อนรับโสณ ฌานีย ภูริย อุตตร มูนีย กับ อมาตย อตุลย หมู่คน ๓๘ ผู้มาดอมกัน ให้อยู่ (บ้านข้าง) คู ข้างวัดปุณณาราม (๒๑/๒)
  • ญาณจรณ ตัวญาณเมื่ออยู่ในอโสการามใหญ่โต มีอุโบสถ พระพุทธรูป ทั้งล้อธัมกวางหมอบ แลตัวสีหคู่อันหมายถึงอโสกดีคู่ดุ อันมีสีหคู่กวาง (และโค) (๒๗๑/๑) อโสการามกว้าง ๑๕๐ เส้น ยาว ๒๐๐ ภิกขุสองพันอยู่ประจำ อยู่ทางใต้ปาตลีปุตต ภิกขุชื่อ ติสสุเถร (เป็น) หัวหน้าตลอดราชคห แทนตัวโมคคัลลีอันเข้าอยู่ในสวนหลวงของ (พระเจ้า) อโสก (๒๗๑/๒) 
  • ญาณจรณ สู่ ตัมพปัณณิ (ลังกาสีหล) อโศกส่งมาดู มหินท อิฏฏิย อุตติย สัมพล ภัททสาล พร้อมอริฏฐ สังคายนาครั้งที่สี่ (ที่) ถูปาราม อนุราธ (บุรี) ด้วยตั้งคงมั่นแห่งพุทธสาสนาในลังกา (ทวีป) (๒๗๔/๑) ตัวพร้อมคณะ ถึง ตัมพปัณณิ ปีพุทธกาล (ล่วงแล้ว) ๒๔๐ เทวนัมปิยติสสเชิญ (พัก) ในอุโบสถ ฟัง เช้า เยน (กลาง) คืน ดูคณะแต่ง อัฏฐกถาวินัย (ปิฏก) สุตตันตปิฏก อภิธัมมปิฏกอีก (รวม) ปีหนึ่งกลับ (๒๗๔/๒)
  • ญาณจรณ มา พาราณสี พร้อมคณะ ปี ๒๔๑ เดือนยี่ ขึ้น ๑ (ค่ำ) พักวิหารมูลคันธนี้ อันอโสกส้างเปนที่ (ระลึก) พุทธได้แสดงธัมมจักกับปวัตตนสูตต ให้ปัญจวัคคียคือ โกนธัญญ (โกณฑญฺญ รู้) แจ้ง (๒๗๖/๑) เมื่ออโสก ส้างมูลคันธ (วิหาร) ส้างหลัก (หิน) คู่ มีสือแจ้งอ่าน มีโคยืน (คู่) สีหคู่นอน กวางคู่หมอบ สือว้า ตรงนี้ พุทธแสดงธัมม ต่อปัญจวัคคีย (ชื่อ) อิสิปตนมิคทายวน อโสกให้ ในอภัยทั่วตัวมิคในนี้ (๒๗๖/๒) 
  • ญาณจรณ มา คยาสีล ม่อต้นโพธิ อัสสั(ตถ)รุกข ที่ (อันพุทธ) นั่งรู้ความจิง มีถูปวิหารใหญ่ โพธิ ๑๐ หรือ ๑๒ อ้อม ต้นแท้จิง โสณสั่งให้ตอนมาปลูกในเมืองทอง(สุวัณณภูมิ) (๒๗๒/๑) ให้ด้วงมาดูเหนหน่อใกล้ต้นควนด้วงไปขอต่อโมคคัลลีติสสก่อน เมื่อต้นเดือน ๓ พุทธกาล ๒๔๑ หน่อต้นอ่อนต้นเป็นขึ้น ตนควนเอามาเอง (๒๗๒/๒) 
  • ญาณจรโณ พร้อมด้วยคณะ เดินถอลุมพินี อโสกอธิราช สั่งวีตโสกเดินนำ มีสหภิกขุ คน ๑๒๒ ลุมพินี ที่คนรู้ ว่า พุทธบังเกิด มหามายาเ (ทวี) พักพึ่งสวนรัง นางออกลูกตรงนี้ ลุมพินี (๒๗๓/๑) อโสกส้างหินหลักสิลา ต้นหนึ่งล้อธัมม โคคู่ สีห มีสืออโสก ชื่อพราหมิน เขียน ว่า ในที่นี้ อโสกอภิสิตต ๒๐ ปี พ.ศ. ๒๓๘ มาถึง ลุมพินี ที่อันพุทธเกิด พาฝูงคนพ้นทุก(ข) ญาณ มาปี ๒๔๒ เดือน ๖ (๒๗๓/๒) 
  • ญาณจรณ มากุสินารา เมืองพุทธนิพพาน เดือน ๓ ขึ้น ๑ ค่ำ พุทธกาล ๒๔๓ อโสกผู้มา สร้างตรง มกุฏพันธนเจดีย์ แลในสวนป่ารัง มีหลักหินมีสือว่า (๒๘๑/๑) พุทธมานิพพาน ที่นี้ ตัวอโสก ผู้มาถึงเนินป่ารัง ส้างสถูปนิพพาน ส้างสีหแลโค คู่หิน บนยอดเสา ญาณจรณมาเหน (๒๘๑/๒)

  • “ข้อความสะดุดใจ” ดังที่ได้ยกมาพอเป็นตัวอย่างนี้ นำมาสู่การตั้งข้อสังเกตและนำมาซึ่งความสงสัยในเรื่อง ความเป็นไปได้ในการเดินทางไปสู่เมืองต่างๆ ระยะทาง ทิศทาง และระยะเวลาในการเดินทาง 
  • จนนำมาซึ่งการสร้างสมมติฐานใหม่ โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ “เมืองทอง-สุวัณณภูมิ” ซึ่งท่านเจ้าคุณอ่ำ ธมฺมทตฺโต ได้พากเพียรเสาะแสวงหาหลักฐานที่เป็น “วัตถุพยาน” ยืนยันว่า “ ความใน    กเบื้องจารเป็นความจริง” และชี้ชัดได้ว่า “เมืองทอง-สุวัณณภูมิ อยู่ที่ จังหวัดราชบุรี”
  • จากการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ทำให้ได้ข้อสมมติฐานใหม่เกิดขึ้นมาว่า แท้ที่จริงแล้ว แคว้นมคธของพระเจ้าพิมพิสารก็ดี แคว้นโกศลของพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ดี 
  • รวมทั้งเมืองสำคัญต่างๆ ที่พระญาณจรณ ได้ไปนมัสการสังเวชนียสถานในสมัยพระเจ้าอโศก ไม่ว่าจะเป็นลุมพินี คยาสีล พาราณสี และกุสินารา อยู่ในแถบถิ่นที่เป็นที่ตั้งประเทศไทยและพม่านี่เอง 
  • หาได้อยู่ในประเทศอินเดียอย่างที่ได้เข้าใจกันมา ตามที่ได้มีนักโบราณคดีชาวอังกฤษ คือ ท่านเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม ประกาศให้ชาวโลกเข้าใจผิดๆ เมื่อไม่ถึง ๑๕๐ ปีที่ผ่านมานี้เอง
  • ผม ในนาม “ชุมนุมฟื้นธรรมฟื้นไทยแห่งยุคหลังกึ่งพุทธกาล” จึงขอยกย่อง กเบื้องจารนี้เป็น กเบื้องจาร..กุญแจไขปริศนา ถอดรหัส คืนประวัติศาสตร์ให้แผ่นดิน

สถานที่แสดงปฐมเทศนา



  • ที่แก่งคอย ซึ่งจอดแวะพักรถอยู่นี้..ถ้าเลี้ยวรถ เข้าไปทางซ้ายมือ ตามซุ้มป้ายเทศบาลตำบลแก่งคอย ก็จะนำเราไปสู่สถานที่สำคัญ 1 ในที่ตั้งสังเวชนียสถาน คือ สถานที่แสดงปฐมเทศนา..
  • ในจารึก กเบื้องจาร เจ้าคุณอ่ำ อ่านไว้. ตอน ที่เกี่ยวกันนี้ว่า 
  • ญาณจรณ มา พาราณสี พร้อมคณะ ปี ๒๔๑ เดือนยี่ ขึ้น ๑ (ค่ำ)
  • พักวิหารมูลคันธนี้ อันอโสกส้างเปนที่ (ระลึก) 
  • พุทธได้แสดงธัมมจักกับปวัตตนสูตต ให้ปัญจวัคคียคือ 
  • โกนธัญญ (โกณฑญฺญ รู้) แจ้ง (๒๗๖/๑) 
  • เมื่ออโสก ส้างมูลคันธ (วิหาร) ส้างหลัก (หิน) คู่ 
  • มีสือแจ้งอ่าน มีโคยืน (คู่) สีหคู่นอน กวางคู่หมอบ 
  • สือว้า ตรงนี้ พุทธแสดงธัมม ต่อปัญจวัคคีย (ชื่อ) 
  • อิสิปตนมิคทายวน อโสกให้ ในอภัยทั่วตัวมิคในนี้ (๒๗๖/๒) 
  • ระยะทาง จาก วัดพระพุทธบาทน้อย ต.สองคอน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี นี้ 
  • หากเดินลัดเลาะ ไปตามทาง ก็จะไปถึง โนนโพธิ์ใหญ่ โคกโพธิ์ชัย 
  • ด้วยระยะทาง ประมาณ 280-290 กิโลเมตร
  • ซึ่งพระบาลีว่า 2 แห่งนี้ห่างกัน 18 โยชน์ 288 กิโลเมตรครับ

พระอริยสงฆ์....บนแผ่นดินสยาม ตอนที่ ๑ ประกาศจับมหาโต


พระอริยสงฆ์....บนแผ่นดินสยาม ตอนที่ ๑ ประกาศจับมหาโต

  • ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นอริยสงฆ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้แตกฉานยิ่งในพระปริยัติธรรม เป็นพหูสูตรอบรู้ทั้งทางโลกทางธรรม มีความเจนจบทั้งพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์ สันนิษฐานว่าท่านเป็นบุคคลที่สันโดษมักน้อยจริงๆ ไม่ยินดีในเกียรติยศชื่อเสียง การศึกษาของท่านเพื่อต้องการความรู้เท่านั้น จึงไม่นิยมสอบเปรียญธรรมนัก
  • ท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นนาคหลวงของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นนักเทศน์ที่หาตัวจับยากในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ท่านได้แสดงความเป็นอัจฉริยะตั้งแต่เยาว์ ทั้งเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าแผ่นดิน และประชาชนคนเดินดินทั่วไป คุณวิเศษสำคัญประการหนึ่งของท่าน คือ สามารถเทศน์ให้หัวเราะก็ได้ ให้ร้องไห้ก็ได้ ให้คนเทกระเป๋าทำบุญก็ได้ นอกจากนี้ท่านยังเป็นนักโหราศาสตร์ ทำนายดวงชะตาได้แม่นยำ และยังเป็นนักใบ้หวยที่โด่งดังด้วย
นายพรหม ขะมาลา ได้บันทึกไว้ว่า...
  • " การเรียนของเจ้าพระคุณสมเด็จฯนั้นว่า ท่านเรียนจนไม่มีอาจารย์ให้ เพราะเมื่อไปเรียนกับท่านผู้ใดก็เท่ากับไปแปลหนังสือให้ฟังทั้งนั้น เมื่อไม่มีผู้ใดสอนให้แล้ว ในที่สุดจึงไปเรียนกับพระพุทธรูปในโบสถ์ เห็นว่าพอสมควรแล้วก็หยุด จึงกราบสามครั้ง แล้วก็จัดแจงเก็บหนังสือห่อเทินศีรษะเดินไปจนถึงที่อยู่ของตน ประพฤติดั่งนี้เสมอมามิได้ขาด
  • กางกากะเยียออกแล้วเอาหนังสือวางบนนั้น กราบสามครั้ง แล้วเปิดหนังสือออกแปล เมื่อแปลไป ครั้นถึงเวลาเปิดสนามหลวง ท่านก็เข้าบัญชีแปลทุกปี เพราะสมัยนั้นหาพระและเณรเข้าแปลในสนามหลวงได้ยาก ในวัดหนึ่งๆจะมีสักสามองค์หรือสี่องค์ก็ทั้งยาก ฉะนั้นเจ้าพระคุณสมเด็จฯท่านจึงเข้าแปลทุกปี เมื่อท่านแปลนั้น พวกกรรมการไม่มีใครทักเลยแม้แต่รูปเดียว คงจะเนื่องด้วยเหตุสองประการ คือ ประการที่ ๑ จะเห็นว่าท่านเป็นพระหลวง และประการที่ ๒ จะเห็นว่าท่านมีความรู้บริบูรณ์เต็มที่แล้ว
  • เมื่อท่านแปลพอจวนจะลงประโยคแล้ว ท่านก็ชิงกราบลาไปเสียทุกที จนบางทีถึงกับกรรมการต่อว่าๆ... แน่ พิลึกจริงไม่เห็นมีใครว่าอะไรก็ลาไปเสียเฉยๆนั่นเอง และไม่ปรากฏว่าท่านเป็นเปรียญ(ในสมัยนั้น) เพราะกล่าวกันว่าท่านไม่ยินดียินร้ายในลาภยศเลย "
  • คนทั่วไปจึงมักเรียกท่านว่า "มหาโต" เพราะเลื่อมใสในความเปรื่องปราดของท่าน แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้เรียกว่า "ขรัวโต" เพราะท่านมักชอบทำอะไรแปลกๆนั่นเอง สมเด็จโตหลีกเลี่ยงการสอบเปรียญและรับสมณศักดิ์มาหลายรัชสมัย 
  • จนมาถึงปีพุทธศักราช ๒๓๙๔ เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่๔) ทรงให้ประกาศหาพระมหาโต มีพระบรมราชโองการให้เจ้าเมืองฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ ฝ่ายตะวันออก ฝ่ายตะวันตก ทั่วราชอาณาจักรจับพระมหาโต ส่งมายังเมืองหลวงให้ได้ พร้อมทั้งให้เจ้าคณะเหนือ กลาง ใต้ ตก ออก ค้นหามหาโต พระที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายมหาโตถูกจับส่งเข้าเมืองหลวง จนกระทั่งข่าวจับพระมหาโต ดังถึงหูชาวบ้านชาวป่าต่างรู้ว่าพระเจ้าแผ่นดินสั่งให้จับมหาโต มหาโตกบดานอยู่ในดงพญาไฟนานถึง ๑๕ ปี ถึงกับอุทานขึ้นมาว่า....
  • "กูหนีมา ๒๕ ปี ทำไมเพิ่งมาประกาศจับ"
  • มหาโตก็ไปโผล่ที่บ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ให้ตำรวจหลวงนำท่านเข้าบางกอก และ ได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ ๔ ณ พระที่นั่งอัมรินทร์ฯ ท่ามกลางขุนนาง ข้าราชการ ครั้นรัชกาลที่ ๔ เห็นมหาโตมีพระราชดำรัสว่า...
  • "เป็นสมัยของฉันปกครองแผ่นดินแล้ว ท่านต้องช่วยฉันพยุงพระบวรพุทธศาสนาด้วยกัน"
  • คราวหนึ่งโปรดเกล้าฯให้ท่านแปลพระปริยัติธรรมถวายในที่รโหฐานแห่งหนึ่ง ท่านแปลถวายได้ตามพระราชประสงค์ จึงมีพระราชดำริว่า ความรู้ของท่านนั้นถึงชั้นเปรียญเอก จะโปรดเกล้าฯพระราชทานพัดยศ เปรียญ ๙ ประโยค แต่ท่านก็ทูลถวายพระพรอีกเช่นเคย อย่างไรก็ตามพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแต่งตั้งให้พระมหาโต พรหมรังสี ถวายสัญญาบัตรเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิตติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ตาลปัตรแฉกหักทองด้ามงา มีฐานานุกรม ๓ องค์ มีนิตยภัตเดือนละ ๔ ตำลึง ๑ บาท ทั้งค่าข้าวสาร เมื่อปี ชวด จุลศักราช ๑๒๑๔ (พ.ศ.๒๓๙๕)
  • เมื่อเสร็จพระราชพิธีการแต่งตั้งแล้ว ท่านก็ออกจากพระบรมมหาราชวัง (ปฏิเสธขบวนเสลี่ยงมีคนหาม มีเรื่องเล่าว่า ท่านว่าถ้าเป็นสมภารแล้วเดินเองไม่ได้ ก็ไม่เอา ถ้าไม่ยอมท่านก็จะไม่รับ) 
  • ท่านถือบาตร ผ้าไตร และบริขาร แบกพัดไปเองถึงบางขุนพรหมและบางลำพู บอกลาพวกสัปปุรุษที่เคยนับถือ มีเสมียนตราด้วง และพระยาโหราธิบดีเก่าและผู้อื่นอีกมาก แล้วท่านก็กลับมาวัดมหาธาตุฯลาพระสงฆ์ทั้งปวง ลงเรือกราบสีที่ได้รับพระราชทานมาแต่พระพุทธเลิศหล้าฯ ข้ามไปกับเด็กช้างผู้เป็นหลาน
  • ท่านหอบเครื่องไทยธรรม ถือพัดยศและย่ามมาเอง ใครจะรับก็ไม่ยอมส่งให้ เที่ยวเดินไปรอบๆ และร้องบอกดังๆว่า...
  • "เจ้าชีวิต ทรงตั้งฉันเป็นที่พระธรรมกิตติ มาเฝ้าวัดระฆังฯ วันนี้จ้ะ เปิดประตูโบสถ์รับฉันเถอะจ้ะ ฉันจะต้องเข้าจำวัดเฝ้าโบสถ์ จะเฝ้าวัดตามพระราชโองการรับสั่งจ้ะ"
  • ท่านแบกตาลปัตรพัดแฉก สะพายถุงย่ามสัญญาบัติไปเก้ๆกังๆ มือหนึ่งถือกาน้ำ และกล้วยหวีหนึ่งพะรุงพะรัง พวกพระนึกขบขันจะช่วยท่านถือ เจ้าคุณธรรมกิตติก็ไม่ยอม พระเลยสนุกตามมุงดูกันแน่น แห่กันเป็นพรวนเข้าไปแน่นในโบสถ์ บางองค์ก็จัดโน่นทำนี่ ต้มน้ำบ้าง ตักน้ำถวายบ้าง ตะบันหมากบ้าง กิตติศัพท์เกรียวกราวตลอดกรุง คนนั้นก็มาเยี่ยม คนนั้นก็มาดูเลื่อมใสในจรรยาบ้าง เลื่อมใสในยศศักดิ์บ้าง แต่ท่านก็ขึ้นกุฏิไปเงียบๆ ไม่ได้มีการประชุมพระลูกวัดชี้แจงนโยบายอะไร
  • ครั้งนั้นมีเรื่องเล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปุจฉาเชิงสัพยอกเจ้าพระคุณสมเด็จฯว่า....
  • "เหตุใดขรัวโตจึงพยายามหนีการแต่งตั้งในรัชกาลที่สาม ต่อทีนี้ทำไมจึงยอมรับ ไม่หนีอีกเล่า? " 
  • เจ้าพระคุณสมเด็จฯถวายพระพรว่า...
  • "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ มิได้ทรงเป็นเจ้าฟ้า ทรงเป็นแต่เจ้าแผ่นดิน (*) อาตมภาพจึงหนีพ้นเสียได้ ส่วนมหาบพิธพระราชสมภารเจ้า ทรงเป็นทั้งเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ไฉนอาตมภาพจะหนีพ้นได้เล่า "
  • พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระสรวลในปฏิภาณของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ
  • เมื่อท่านอยู่ที่วัดระฆังนั้น ท่านทำขบขันมากดูสนุกเป็นมหรสพโรงใหญ่ทีเดียว บางคนชอบหวยก็เอาไปแทงหวย ขลังเข้าทุกๆวัน คนก็ยิ่งเอาไปแทงหวยถูกกันมากรายยิ่งขึ้น เลยไม่ขาดคนไปมาหาสู่ บางคนก็ว่าท่านบ้า บางคนก็ตอบว่า....
  • "เมื่อขรัวโตบ้า พากันนิยมชมว่าขรัวโตเป็นคนดี ยามนี้ขรัวโตเป็นคนดี พูดกันบ่นอู้อี้ว่าขรัวโตบ้า"

  • ครั้งหนึ่ง ขณะที่สมเด็จโตกำลังจะไปธุระ บังเอิญเรือติดหล่มต้องเข็นเรือกัน สมเด็จโตได้เอาพัดยศวางไว้ในเรือ แล้วรีบมาช่วยลูกศิษย์เข็นเรือ ชาวบ้านแถบนั้นแลเห็นเข้าหัวเราะชอบใจขบขัน พูดตะโกนเสมือนหนึ่งล้อเลียนท่านว่า 
  • " ดูท่านสมเด็จ...เข็นเรือ "
  • สมเด็จโตว่า..
  • "สมเด็จเขาไม่ได้เข็นเรือหรอกจ้ะ สมเด็จท่านอยู่บนเรือ"
  • แล้วท่านสมเด็จโตก็ชี้มือไปที่พัดยศในเรือ ชาวบ้านต่างได้ยินได้ฟังแลเห็นเช่นนั้น ก็เงียบ บางวันเขานิมนต์ไปเทศน์ เมื่อจบท่านบอกว่า...เอวัง พังกุ้ย" บ้าง บางวันก็บอกว่า "เอวัง กังสือ" บางวันก็บอกว่า "เอวัง หุนหัน" เล่ากันต่อๆมาว่าท่านเทศน์ไม่เว้นแต่ละวัน ทรงติดกัณฑ์เทศน์สลึงเฟื้อง
  • เมื่อพรรษายุกาลมากขึ้น ท่านยิ่งแตกฉานในสรรพวิชากาล สามารถเทศน์ให้ผู้ฟังหัวเราะก็ได้ เทกระเป๋าทำบุญก็ได้ ดังจะเห็นได้จากครั้งหนึ่ง ขณะยังเป็นพระเทพกวี ท่านเจ้าคุณเทศน์คู่กับพระพิมลธรรม (ถึก) วัดพระเชตุพนฯ เสมอมา การเทศน์ของท่านเผ็ดร้อนถึงอกถึงใจคนฟัง จนความทราบถึงพระกรรณสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงนิมนต์เจ้าคุณทั้งสองเข้าไปเทศน์ในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานเงินติดกัณฑ์เทศน์สลึงเฟื้อง พระกวีเทพไหวทัน หันมาบอกพระพิมลธรรมว่า....
  • "เจ้าถึกจ๋าเจ้าถึก เจ้าถึกรู้หรือยัง" 
  • พระพิมลธรรมถามว่า..
  • "จะให้รู้อะไรหนา"
  • "อ้าวท่านเจ้าถึกยังไม่รู้ตัว โง่จริงๆ แฮะ"
  • ท่านเจ้าถึกถามรุกใหญ่ว่า..
  • "จะให้รู้อะไรอีกนอกคอกเปล่าๆ" 
  • พระเทพกวีว่า..
  • "จะนอกคอกทำไม เรามาเทศน์กันวันนี้ ในวังไม่ใช่หรือ"
  • ท่านรับว่า..
  • "ในวังน่ะซี" 
  • "ก็ในวัง ในคอก ในกำแพงด้วยซ้ำ รู้ไหมล่ะ" 
  • "รู้อะไรนะ?" 
  • "จงรู้เถิด จะบอกให้ว่า ท่านเจ้าถึกนั้นหัวล้านมีศรี ฝ่ายพระเทพกวีนั้นหัวเหลือง สมเด็จพระบรมบพิตร จึงทรงติดให้สลึงเฟื้องรู้ไหม?"
  • พอหมดคำ ก็ฮาครืนบนพระที่นั่ง สมเด็จพระจอมเกล้าฯ เลยพระราชทานรางวัลองค์ละ ๑๐ บาท
  • "พ่อจงเอาเงินนี้มาแบ่ง จงจัดแจงให้เข้าใจ พ่อถึกหัวล้าน พ่อโตหัวเหลือง เป็นหัวละเฟื้องสองไพ"
  • ปรากฏได้อีกฮาใหญ่ ผลก็คือได้เงินพระราชทานติดกัณฑ์เทศน์องค์ละ ๑๐ บาท คราวนี้เจ้าจอมคิกคักกันแซ่ คุณเฒ่าคุณแก่ยิงเหงือกยิงฟันอ้าปากกันหวอไปหมด สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระสรวลแล้วมีรับสั่งให้ถวายพระธรรมเทศนา ปุจฉาวิสัชนาสืบไปจนจบ
  • กล่าวขานกันว่าท่านเข้าวังทีใด อะไรมิอะไรก็ขยายให้เป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้รับรางวัลทุกครั้ง แต่เมื่อท่านพ้นประตูวังว่าแล้วมักไม่ใคร่มีเงินเหลือในย่าม เพราะมหาดเล็กในวังต่างล้วงย่ามของท่านเอาเงินไปหมด กลับถึงวัดระฆังฯ เหลือเงินอย่างมากที่สุดก็ ๑๘ สตางค์
  • ท่านเจ้าคุณเป็นพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งมีจรรยาอาการประพฤติอ่อนน้อม ท่านมีความประพฤติผิดจากชาวบ้านทั่วไป ไม่ว่าพระสงฆ์หรือเณรแบกคัมภีร์เรียนมา ถ้าท่านเจ้าคุณพบเข้า แม้จะเป็นกลางถนน ท่านเป็นต้องหมอบก้มลงกราบ ถ้าพระเณรไม่ทันพิจารณา สำคัญว่าท่านเจ้าคุณก้มลงเคารพตนและก้มเคารพตอบท่านเมื่อไร เมื่อนั้นต่างคนต่างหมอบแต้เคารพอยู่ที่นั่น สร้างความครึกครื้นแก่ผู้พบเห็นเสมอๆ
  • ในช่วงที่สมเด็จโตมีชีวิตอยู่ บ่อยครั้งที่ท่านได้สำแดงปริศนาธรรม เมื่อยามที่ท่านเห็นว่าบ้านเมืองมีอะไรที่ไม่ถูกต้อง ครั้งหนึ่งเจ้าประคุณสมเด็จ จุดไต้ลูกใหญ่ลุกโพลงเดินเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ในตอนกลางวันแสกๆ ตะวันตรงหัวทีเดียว ร.๔ ทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น ก็ตรัสว่า...
  • "ขรัวโต ๆ ในหลวงรู้แล้วละว่าจะบอกอะไรในหลวง"
  • เจ้าประคุณสมเด็จก็ไม่ปริปากพูดอะไรสักคำ เอาไต้ลูกนั้นทิ่มกับกำแพงวังแล้วเดินกลับออกมาเฉยๆ 
  • ข้อนี้เล่าว่า ในช่วงนั้น ร. ๔ ทรงหมกมุ่นกับเจ้าจอมหม่อมห้ามและการละเม็งละครหนักข้อไปหน่อย สมเด็จท่านจะถวายพระพรเตือนตรงๆ ก็เกรงพระราชหฤทัย จึงแสร้งจุดไต้เข้าไปทูลเตือนในฐานะนักปราชญ์ด้วยกัน ร.๔ จึงรีบตรัสว่า...
  • "รู้แล้วๆ"
  • อีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้สมเด็จโตเข้าเฝ้าถวายพระธรรมเทศนาในวัง เมื่อสมเด็จโตท่านมาถึง นั่งธรรมมาสก์เสร็จ ก็เอ่ยว่า...
  • "ดี พระมหาบพิธก็รู้ ชั่ว พระมหาบพิธก็รู้ เพราะฉะนั้น วันนี้อากาศแจ่มใสดี เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้"
  • ปีขาล จุลศักราช ๑๒๑๖ (พ.ศ.๒๓๙๗) พระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระเทพกวี จนเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) วัดสระเกศถึงมรณภาพ จึงได้ทรงสถาปนาท่านขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ ขึ้น ๘ ค่ำปีชวด จุลศักราช ๑๒๒๖ ตรงกับวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๐๗ นับเป็นสมเด็จพุฒาจารย์องค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (สมณศักดิ์นี้เดิมใช้คำว่า "สมเด็จพระพุทธาจารย์" คู่กับ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เพิ่งจะเปลี่ยนมาใช้ "สมเด็จพระพุฒาจารย์"ในสมัยรัชกาลที่ ๔) 
  • เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ นั้น มีพระชนมพรรษาเพียง ๑๕ ปี ๑๐ วันเท่านั้น ยังทรงพระเยาว์นัก จึงต้องมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) อัครมหาเสนาบดี ผู้ใหญ่ในขณะนั้น เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
  • วันหนึ่งเจ้าประคุณสมเด็จก็จุดไต้ลูกใหญ่ (**)เข้าไปหาสมเด็จเจ้าพระยาในจวนของท่าน ยามกลางวันแสกๆ อีกเช่นเดียวกัน สมเด็จเจ้าพระยาจึงถามว่า มีประสงค์อันใดหรือ จึงถือไต้เข้ามาหากระผมเช่นนี้ เจ้าประคุณสมเด็จตอบไม่อ้อมค้อมเลยว่า...
  • "อาตมภาพได้ยินว่า ทุกวันนี้แผ่นดินมืดมัวนักด้วยมีคนคิดร้ายจะเอาแผ่นดิน ไม่ทราบว่าเท็จจริงจะเป็นประการใด ถ้าเป็นความจริงแล้วไซร้ อาตมภาพก็ใคร่จะขอบิณฑบาตเขาเสียสักครั้งหนึ่งเถิด"
  • สมเด็จเจ้าพระยา อึ้งไปนิดหนึ่งก่อนจะตอบว่า... 
  • "ขอพระคุณเจ้าอย่าได้วิตกเลย ตราบใดที่กระผมยังมีชีวิตอยู่ฉะนี้ จะไม่ให้แผ่นดินนั้นมืดมัวหล่นลงไป ด้วยจะไม่มีผู้ใดแย่งแผ่นดินไปได้เป็นอันขาด"
  • ท่านเจ้าประคุณสมเด็จบอกว่า เพื่อความสบายใจ ให้สมเด็จเจ้าพระยาไปสาบานตัวต่อพระแก้วมรกตในวัดพระแก้ว ภายหลังต่อมาท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเป็นข้าราชการผู้หนึ่ง ที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีส่วนผลักดันให้การบริหารราชการแผ่นดินก้าวเข้าสู่ยุคใหม่
  • โปรดติดตามตอนต่อไปในคราวหน้า
หมายเหตุ
  • - (*) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่๓) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จพระศรีสุราลัย (เจ้าจอมมารดาเรียม) ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๓๓๐ มีพระนามเดิมว่า พระองค์ชายทับ เมื่อแรกประสูติทรงดำรงพระยศเป็น " หม่อมเจ้า " ด้วยเวลานั้นพระราชบิดายังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น เจ้าฟ้าต่างกรม และพระราชมารดาเป็นเพียงสามัญชน จนเมื่อสมเด็จพระบิดาได้รับการสถาปนาเป็นที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือตำแหน่งพระมหาอุปราชแล้ว พระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา จึงเลื่อนพระยศขึ้นเป็น " พระองค์เจ้า " ทุกพระองค์ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๓๕๖ ภายหลังที่พระราชบิดาเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนา พระองค์เจ้าทับ ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม ทรงพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เข้ารับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจ ว่าความฎีกาทรงพระปรีชาสามารถในการศึกษาหลายแขนง อาทิ ในด้านอักษรศาสตร์ พุทธศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และพาณิชยศาสตร์ จึงเป็นเหตุให้ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบรมชนกนาถให้ไปบังคับบัญชาหน่วยราชการอื่น ๆ ต่างพระเนตรพระกรรณ
  • ในขณะที่รัชการที่ ๒ ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตนั้น มิได้ตรัสมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสองค์ใด พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีได้ปรึกษากันเห็นควรถวายราชสมบัติแด่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ แม้จะเป็นพระราชโอรสที่เกิดจากเจ้าจอม เนื่องจากทรงเจริญพระชนมายุมากกว่าเจ้าฟ้ามงกุฏ พระราชโอรสที่ประสูติจากสมเด็จพระบรมราชินี ซึ่งขณะนั้นทรงพระเยาว์และทรงผนวชอยู่ ทั้งยังไม่เคยทรงงานใหญ่มาก่อนและช่วงนั้นบ้านเมืองยังมีข้าศึกมาประชิดติดพันอยู่เนื่องๆ จึงได้ขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๓๖๗ โปรดให้จัดการปกครองบ้านเมืองเสียใหม่ให้เหมาะสมกับภาวการณ์ในเวลานั้น โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองขึ้นใหม่เพื่อสะดวกแก่การปกครองและเพื่อรวบรวมราษฎรที่กระจัดกระจายกันให้มาอยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่า นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันข้าศึกที่อาจจู่โจมเข้ามาทางเรือเพิ่มเติมขึ้นที่สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และที่จันทบุรี โปรดให้มีการปราบปรามโจรผู้ร้าย ซึ่งในเวลานั้นมี "พวกอั้งยี่" เข้ามาระรานปล้นสดมภ์จนราษฎรไทยที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นเดือดร้อน จึงโปรดให้ทหารเรือยกกำลังไปปราบปรามจนสงบราบคาบ ตลอดจนการลักลอบค้าฝิ่นและการสูบฝิ่นก็ให้ปราบปรามเช่นกัน
  • - (**) จุดไต้ คือ ไฟที่ใช้ให้แสงสว่างสมัยก่อนทำจากขี้ชันมันยางห่อด้วยกาบหมากหรือเรียกว่าทางหมาก เวลาไต้ติดแล้วต้องคอยเขี่ยขี้ไต้ออกบ่อยๆ เดี่ยวไฟจะดับ สมัยก่อนมโนราห์หรือการละเล่นมาแสดงก็ต้องตามแสงของไต้ไป
  • - พระอริยสงฆ์ คือ ผู้รู้แจ้งธรรมผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บรรลุถึงความรู้แจ้งสามารถกำจัดกิเลสตัณหาอุปาทานได้ตามภูมิชั้นของตน ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ตามลำดับ

พระอริยบุคคล ๔ ประเภท คือ
๑. พระโสดาบัน (สุปฏิปณฺโณ ปฏิบัติดี , งาม)
๒. พระสกทาคามี (อุชุปฏิปณฺโณ ปฏิบัติตรง , ถูกต้อง)
๓. พระอนาคามี (ญายปฏิปณฺโณปฏิบัติชอบ , เพื่อธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์)
๔.พระอรหันต์ (สามีจิปฏิปณฺโณปฏิบัติสมควร , เหมาะสม)

เอกสารประกอบการเขียน
- หนังสือสมเด็จโต , พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ
- อัศจรรย์พลังสมเด็จโต มรณะ ๑๓๐ ปี ยังแผ่ปริศนาธรรม(ชาติ)ก้อง กังฟู เหนือฟ้าใต้บาดาล นสพ.ไทยรัฐ ,พระภาวนาวิสุทธิคุณ ๘ เม.ย. ๓๕
- อ.สิริเดชะกุล

ทำอย่างไรถึงจะได้รับข้อความที่ทางเพจโพสทุกครั้ง ... กดคำว่า “ถูกใจ” แล้ว ใต้ “ภาพหน้าปก” จะมีคำว่า “รับการแจ้งเตือน” ให้กดที่คำนี้ จนเห็นเครื่องหมาย ‘ถูก’ ปรากฎขึ้น เพียงเท่านี้ คุณก็จะไม่พลาดข้อความดีๆอีกต่อไป

fb: นิทรรศการพลังแผ่นดิน
อัศจรรย์งานศิลป์ แผ่นดินสยาม
https://m.facebook.com/profile.php?id=388723421244559